Epsilon’ s blog

มกราคม 3, 2006

วรรณกรรมตกสระ

Filed under: book — epsilon @ 9:50 pm

‘วรรณกรรมตกสระ’ หนังสือประเภทเรื่องสั้น โดย ภาณุ ตรัยเวช ของสำนักพิมพ์นานมี
หนังสือรางวัลวรรกรรมดีเด่นจากการประกวนด Young Thai Artist Award 2004 (ครั้งที่ 1)
มีหนังสือจากการประกวดนี้วางเรียงรายให้เลือกอยู่ 4 เล่ม เราเลือกหยิบเล่มนี้มา
หลังจากอ่านคำนำ บางส่วนของเนื้อหาและประวัติคนเขียนแล้ว
ชื่อเดิมตอนส่งประกวดคือ ‘งามมีที่รัก’ แต่เปลี่ยนชื่อตอนจัดพิมพ์

สะดุดตาตั้งแต่คนเขียนคำนิยม ไฉนเลยนักเขียนที่เราชื่นชอบทั้งสองท่าน วาณิช จรุงกิจอนันต์ และชาติ กอบจิตติ ถึงได้เขียนคำนิยมให้ คงไม่ธรรมดา ทิ้งไว้ให้คนอ่านติดตามว่างานเขียนเค้าคงเป็นอย่างที่ท่านว่า’ดาวดวงใหม่เกิดแล้ว’ สองผู้ยิ่งใหญ่แห่งวงการวรรณกรรมชื่นชมตรงกันถึงเพียงนี้แล้วจะไม่ให้อยากอ่านได้ยังไงกัน

พลิกไปอ่านประวัติคุณภาณุแล้วก็อึ้ง และอี้ง เพราะเค้าเป็นนักเรียนเรียนเก่งมากขนาดเป็นตัวแทนแข่งขันฟิสิกส์โอลิมปิก 3 ปี สอบได้ที่หนึ่งทุนเล่าเรียนหลวงสายวิทยาศาสตร์ ไปเรียนฟิสิกส์จบด้วยเกียรตินิยมที่ Caltech และปัจจุบันกำลังทำปริญญาเอกอุตุนิยมวิทยาและสมุทรศาสตร์ที่ UCLA นี่ประวัติสายการเรียนหรูหราขนาดนี้ ยังไม่พอ เค้ายังมีงานอดิเรกอื่นๆ ที่ทำได้ดีอย่างเป็นผู้กำกับหนังสั้น ผู้จัดการวงดนตรี นักดนตรีแซกโซโฟน นักเต้นละติน หันมาดูผลงานด้านงานเขียน ยาวเป็นหางว่าว ทั้งงานเขียนบทละคร บทหนัง เรื่องสั้น งานแปล แถมเป็นคอลัมน์นิตส์ให้นิตยสารอีกต่างหาก โอวววว อะไรจะปานนั้น

นั่งอ่านเรื่องสั้นเล่มนี้แล้วก็ชอบจัง คนเขียนมีมุมมองการใช้ชีวิตและมุมมองต่อสังคมครบองค์ประกอบและรอบด้าน มีวิธีคิดที่เป็นตัวของตัวเอง จับความคิดมาเรียงร้อยโดยวิธีการเขียนที่แตกต่างกันไปในเรื่องสั้นทั้ง 9 เรื่อง ใช้ภาษาไทยได้ดีมาก จนถึงขั้นเรียกได้ว่ามีเอกลักษณ์เฉพาะตัว บางช่วงต้องหยุดตีความ คิดและจินตนาการ บางช่วงอ่านสบาย ๆ บางช่วงก็รู้สึกว่าเค้าแสดงทัศนคติความเชื่อบางอย่างออกมาผ่านตัวหนังสือ และบางช่วงก็รู้สึกว่า ‘กัดเจ็บ’ ชะมัด โดนเข้าให้แล้วไหม๊ล่ะ

อ่านเสร็จแล้วรู้สึกอยากอ่านงานอื่นๆ ที่เค้าเขียน ที่เค้าแปลจัง ไม่รู้ว่าพิมพ์ออกมาหมดหรือยัง

เรื่องสั้นเรื่องแรก วรรณกรรมตกสระ ท้ายบทระบุว่าเรื่องสั้นเรื่องนี้เคยตีพิมพ์ใน Open เล่ม 42
เหอ แล้วไมเราไม่คุ้นซะเลย ตกลงเราเคยอ่านแล้วหรือนี่
วิ่งไปที่ชั้นหนังสือคุ้ยหา Open เล่ม 42 เจอแล้น ปกสีชมพูหวานแหว๋ว You are what you shop เมื่อเศรษฐีใหม่ไทยไปช้อปปิ้งที่อังกฤษ อารมณ์เล่มนี้ครุกรุ่นได้ที่จากเรื่องที่รัฐบาลจะซื้อหุ้นหงษ์
เรื่องนี้ปรากฎตัวอยู่ใน Open Center เป็นการเปิดโอกาสให้คนอ่านส่งงานเขียนมาร่วมตีพิมพ์สนุก ๆ ใน Open
ใช่แหละ เราคงเคยอ่าน แต่ตอนนั้นอ่านแล้วรู้สึกว่าตัวเองจะจินตนาการว่านักเขียนที่เนื้อเรื่องหมายถึงจะเป็นคุณคุ่น ปราบดา หยุ่นซะงั้น
แต่ตอนนี้มาอ่านใหม่อีกรอบ ด้วยเวลาที่เปลี่ยนไป และสถานการณ์ต่างๆ ที่เข้ามาในชีวิต ตอนที่เราอ่านกลับไม่มีภาพคุณคุ่นเลยซักนิด มีแต่เรื่องของสังคมและระบบที่บิดเบือนด้วยแรงPR และทุนนิยม

มันทำให้เรากระตือรือร้นที่จะอ่านงานบทต่อๆ ไปของเค้า งานเขียนที่ตีความได้หลากหลายตาภาวะและประสบการณ์ของคนอ่าน เท่ชะมัด

จริงๆ เราก็ไม่ค่อยอ่านหนังสืออ่านเล่นอะไรหลายๆ รอบหรอก
ยกเว้น ‘เจ้าชายน้อย’ ไม่น่าจะต่ำกว่า 5 รอบ แล้วแต่ละรอบก็ตีความไม่เคยเหมือนกันซักที
ให้ตายเถอะ รอบที่ 5 ข้าพเจ้าก็ยังเสียน้ำตา
ตอนดูหนังเรื่อง ‘เพื่อนสนิท’ นี่ทำเราเอาอึ้งไป ก็ทั้งวิวบนเกาะพงันที่คุ้นแสนคุ้น เนื้อเรื่องที่ผูกโยงเปรียบเปรยจากหนังสือ ตัวละครที่เขียนโปสการ์ดกลับมาให้เพื่อนที่ตัวเองรัก (เราก็เอาหนังสือเจ้าชายน้อยไปอ่านที่เกาะพงันแล้วก็เขียนโปสการ์ดส่งกลับมาระบุด้วยว่ากำลังอ่านเจ้าชายน้อยอยู่ โน่นเมื่อประมาณ สามสี่ปีมาแล้ว) ฉากจบที่พระเอกหยิบเจ้าชายน้อยที่อ่านค้างอยู่ขึ้นมาอ่านให้จบ เรารู้แล้วหล่ะว่าเค้าต้องตัดสินใจอะไรบางอย่าง แต่ดันไม่ตรงกับใจเราอ่ะ เพราะถ้าเป็นเรา เราจะกลับไปหาดากานดา

6 ความเห็น »

  1. อ้าวเหรอ..
    ถ้าเป็นผมนะ ผมก็ไม่กลับไปหาดากานดาครับ

    เพราะความเป็น “เพื่อน” นั้นยั่งยืนกว่าสิ่งอื่นใด

    ความเห็น โดย natsima — มกราคม 4, 2006 @ 1:13 pm

  2. ก็เพราะมิตรภาพของเพื่อนยั่งยืนกว่าสิ่งอื่นใดน่ะสิ่
    ถ้าเป็นเรา ถึงได้เลือกกลับไปหาเพื่อนที่ชื่อดากานดา

    เพราะถ้าเราก้าวล่วงข้ามพรมแดนของความเป็นเพื่อนไปเป็นคนรัก เราก็จะรักเค้าได้อย่างสนิทใจ เพราะพื้นฐานของความเป็นเพื่อน โดยที่มีความรู้สึกพิเศษเป็นส่วนหนึ่งของความสัมพันธ์ และเมื่อเรารู้สึกว่าความรู้สึกพิเศษนั้นเปลี่ยนแปลงไป (กรณีที่ลดลง) ความสัมพันธ์แบบเพื่อนก็จะยังคงอยู่ ถ้าเปรียบเทียบกับคนที่ไม่ได้มีพื้นฐานจากการเป็นเพื่อนกันมาก่อน พอเลิกเป็นคนพิเศษของกันและกันแล้ว มักจะคงระยะห่างไว้แค่คนรู้จักทั้งๆ ที่ช่วงเวลาหนึ่งเป็นคนที่หายใจเข้าออกเป็นกันและกัน

    ความเห็น โดย Epsilon — มกราคม 4, 2006 @ 7:43 pm

  3. อ้าวเหรอ..(อีกทีครับ)

    เรื่องนี้อาจต้องคุยกันยาวนิดนึงครับ

    มีทฤษฎีเกี่ยวกับ Self หรือ “ตัวตน” ทฤษฏีหนึ่งที่พูดถึง Boundary ของปัจเจกบุคคลครับ

    ลองเอากระดาษเปล่ามาใบนึงนะครับ แล้ววาดจุดกลมๆ เล็กๆ ลงที่กึ่งกลางกระดาษ

    จากนั้นก็หาวงเวียนมาสักอัน กางรัศมีออกนิดนึง จากนั้นก็ปักด้านแหลมๆ ของวงเวียนที่จุดที่เราวาดไว้ แล้วจัดการ”วง” Boundary ขึ้นมา

    ถ้านึกสนุกกับการใช้วงเวียน ก็ลองขยายรัศมีของวงเวียนออกทีละนิด แล้ววาดวงกลมอีกหลายๆ วงก็ได้ครับ โดยแต่ละวงให้มีรัศมีที่โตกว่าเดิมเรื่อยๆ

    ผมกำลังจะบอกว่าคนเรามี boundary หลายระดับครับ ลองนึกชื่อเพื่อนหรือคนรู้จักสักสิบ-ยี่สิบคนแล้วบรรจุชื่อคนเหล่านั้นลงในแต่ละระดับของ boundary จะพบว่าสุดท้ายแล้วเราจะมี “เพื่อนสนิท” ที่อยู่ในวงกลมที่เล็กที่สุดและใกล้จุดศูนย์กลางที่สุด

    อนุมานว่าจุดศูนย์กลางนั้นคือ “ตัวเรา” นะครับ

    เขียนมาถึงตอนนี้ก็นึกขึ้นมาได้ว่าฝรั่งเค้าใช้คำว่า close friend สำหรับ”เพื่อนสนิท” พอดี

    ประเด็นถัดมาก็คือ..แล้ว “คนรัก” เราอยู่ตรงไหน?

    ในทรรศนะอันต่ำต้อยของผมนั้น ผมเชื่อว่าคนรักนั้นแทบจะ “ซ้อนทับ” อยู่กับจุดศูนย์กลางหรือ “ตัวตน” ของเราเลยนะครับ จึงไม่ยากที่เพื่อนสนิทจะก้าวข้ามพรมแดนมาเป็นคนรักได้อย่างที่คุณ epsilon กล่าวไว้

    ปัญหาเกิดขึ้นเมื่อจะก้าวข้ามพรมแดนออกไปนี่แหละครับ

    ตอนที่คนหนึ่งคนจะก้าวข้ามพรมแดนจากคนทั่วไปมาเป็น คนรู้จัก- เพื่อน- เพื่อนสนิท มาได้นี่ปัจจัยที่เกี่ยวข้องน่าจะเป็น ความคุ้นเคย/ความไว้เนื้อเชื่อใจ/ความซื่อสัตย์/ความรัก/ความดี

    แต่ในขณะที่คนหนึ่งคนจะก้าวข้ามพรมแดน “ออกไป” นี่ผมว่าปัจจัยต่างๆ เหล่านั้นน่าจะหายไปจนหมด และมีปัจจัยเรื่องของความเกลียดชังเข้ามาแทน

    ถ้าเปรียบเทียบกันในทางวิทยาศาสตร์แล้ว การสร้าง bond (พันธะเคมี)ของสสารจะเกิดการปลดปล่อยพลังงานออกมาระดับหนึ่ง

    แต่ถ้าจะสลายพันธะแล้วสสารจำเป็นต้องได้รับพลังงานเข้าไปช่วยในการสลายพันธะนะครับ

    ซึ่งผมคิดว่าพลังจาก darkside นั่นแหละเป็นพลังที่ใช้ในการที่ใครบางคนจะก้าวออกมาจากความเป็นคนรัก

    และเราก็มิอาจจะควบคุมพลังจาก darkside นั้นได้เป็นอย่างดี ดังนั้นเมื่อเราจะเปลี่ยนสภาพจากคนรักเป็นเพื่อนสนิทอีกครั้งนั้นคงเป็นไปได้ลำบากมาก

    คุณ epsie ว่าผมมองโลกในแง่ร้ายเกินไปรึเปล่า?

    ความเห็น โดย natsima — มกราคม 5, 2006 @ 8:42 am

  4. เดี๋ยวขอไปหาวงเวียนก่อน แล้วกจะกลับมาตอบนะคะ
    เรื่องนี้คงต้องคุยกันยาวววววว แล้วหล่ะ

    วันนี้เราเพิ่งได้ผู้เชี่ยวชาญด้านคอมมาสอนวิธี edit link เย้ เย้

    ความเห็น โดย Epsilon — มกราคม 6, 2006 @ 1:41 pm

  5. สวัสดีครับ

    คนเขียน “วรรณกรรมตกสระ” ครับ เพิ่งได้รับอีเมล์ของคุณ Epsilon ตอบกลับไปแล้วจาก love_you_all_mass@hotmail.com ไม่ทราบว่าได้รับหรือยังครับ

    ขอโทษด้วยที่ตอบกลับช้าเหลือเกิน เพราะว่าเพิ่งมีโอกาสได้เช็คอีเมล์สองสามวันก่อนนี้เอง พอเจออีเมล์ของคุณก็รีบตอบกลับไปทันที

    สั้นๆ คือดีใจมากครับที่มีคนอ่านผลงาน ยังไงไว้คุยกันอีกนะครับ อยากคุยกับนักอ่านมากๆ เหมือนได้รู้จักทั้งเพื่อนใหม่ และนักวิจารณ์ ชอบเรื่องไหนที่สุดในเล่ม มีอะไรก็เขียนมาคุยกันนะครับ

    ความเห็น โดย ภาณุ ตรัยเวช — มกราคม 17, 2006 @ 12:23 am

  6. สวัสดีค่ะคุณภานุ

    เพิ่งเห็นเมล์ค่ะ แบบว่าไปอยู่ใน junk mail น่ะค่ะ

    ชอบเรื่องไหนที่สุด

    ชอบนักฉลาดมืออาชีพที่สุดค่ะ อาจเป็นเพราะ มันเกี่ยวข้องกับการศึกษา รู้สึกเสียดสีได้สะใจ

    ‘ความถูกต้องเป็นรองความน่าเชื่อถือ ที่สำคัญเธอคือความรู้และความรู้ไม่มีวันผิดพลาด’

    วิธีการวางโครงเรื่องก็ดีค่ะ ที่สำคัญมีการนำเอาเพลงแสงแห่งศรัทธามาเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินเรื่อง

    เราชอบเพลงนี้มากกกกกกกกกก ฟังครั้งแรกแล้วก็นิ่งอึ้ง ชอบสุด ๆ

    เราเป็นชาวค่ายและเราก็ร้องเพลงนี้กันทุกคืนเวลาไปออกค่าย

    ไม่คิดว่าจะมีคนรู้จักเพลงนี้มากนัก

    แล้วก็รู้สึกแปลกใจเล็กน้อยที่คุณภานุรู้จักเพลงนี้จนถึงขนาดเอามาใช้ในงานเขียน

    แต่หลังจากอ่านจนจบเล่ม ระดับความแปลกใจก็ลดลง เพราะเรารู้สึกว่าคุณมีความสนใจและความรู้หลากหลายมาก

    ต้องเข้าใจนิดนึงนะคะ ว่าเวลาพูดถึงเด็กฟิสิกส์เนี่ยคนทั่วไปมักจะคิดว่าน่าจะเป็นประเภท Nerd แบบว่าอยู่แต่โลกของฟิสิกส์ ก็เลยตื่นตะลึงตอนที่เห็นว่าหนังสือเล่มนี้เขียนด้วยนักเรียนฟิสิกส์ระดับโอลิมปิกส์ แถมยังมีกิจกรรมอื่น ๆ ที่สนใจเยอะแยะอีกต่างหาก – สมมุติฐานเบื้องต้นผิดหมด

    ลำดับถัดมาชอบ แท็กซี่แดนเซอร์ อ่านแล้วรู้สึกสนุก แล้วก็รู้สึกว่าคนประเภทแบบในเรื่องมีอยู่จริงแต่อาจจะประกอบอาชีพอื่น ไม่ใช่แดนเซอร์

    โถฟ้าก็ดีนะคะ จริงๆ ดีหมดเลยอ่ะ วิธีการผูกเรื่องแต่ละเรื่องสนุกดี ลีลาการเขียน วิธีการเล่าเรื่องก็ต่างกัน ในเรื่องเดียวกันก็ยังใช้วิธีการเขียนที่แตกต่างกันในบางช่วง

    โอ๊ย เขิน ให้วิจารณ์หนังสือให้เจ้าของหนังสือ

    เอาเป็นว่าจะตามอ่านหนังสือคุณภานุละกัน

    ดูแลรักษาสุขภาพด้วยล่ะ–>

    ความเห็น โดย Epsilon — มกราคม 19, 2006 @ 6:30 pm


RSS feed for comments on this post. TrackBack URI

ส่งความเห็นที่ Epsilon ยกเลิกการตอบ

บลอกที่ WordPress.com .